Wednesday, September 21, 2016

6 การดำเนินงานระบบและการบำรุงรักษาระบบ (System operation and maintenance)

6 การดำเนินงานระบบและการบำรุงรักษาระบบ (System operation and maintenance)

เมื่อพัฒนาระบบเสร็จสมบูรณ์แล้วผู้ใช้จะเริ่มใช้งานระบบ หลังจากระบบทำงานและผู้ใช้เริ่มใช้งานระบบแล้วขั้นตอนนี้หมายถึงการเฝ้าติดตามสถานะในการใช้งานและสถานะในการทำงานของระบบ เพื่อตรวจจับความผิดพลาดหรือผิดปกติใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที และเพื่อสนองตอบต่อการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจ โปรแกรมอาจจะมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

(1) ข้อควรระวังเกี่ยวกับการดำเนินงานและการบำรุงรักษา (Precautions about operation and maintenance)

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการดำเนินงานระบบและการบำรุงรักษามีดังต่อไปนี้
· เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานใดๆ ในเบื้องต้นให้ทำการแบ็คอัพระบบ (สำรองระบบ) ก่อนการดำเนินการปรับปรุงการทำงานใดๆ ของโปรแกรม หลังจากทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโปรแกรมแล้ว ให้ทำการทดสอบระบบภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมือนกับสภาพแวดล้อมในการทำงานจริง
· เมื่อทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ในโปรแกรม ต้องทำการบันทึกการเปลี่ยนแปลง (modification log) นั้นไว้เสมอ บันทึกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบภายหลัง อาทิ สาเหตุของความผิดพลาด และต้องทำการทดสอบด้วยการทดสอบแบบถดถอย เพื่อยืนยันว่าโปรแกรมอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
· ต้องมีการเก็บรักษาชุดของเอกสารที่สมบูรณ์ในการพัฒนาระบบปัจจุบันไว้เสมอ (เช่น ข้อกำหนดและ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน)
· ต้องมีการเฝ้าติดตามตรวจสอบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เช่น พื้นที่ดิสก์ไม่เพียงพออันเนื่องมาจากข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงตามความเหมาะสม

อ้างอิง
การจัดเก็บเอกสาร (Document storage)
การจัดทำเอกสารประกอบการพัฒนาระบบในแต่ละกระบวนการเป็นเรื่องสำคัญ เอกสารเฉพาะที่ต้องจัดทำประกอบด้วย เอกสารกำหนดขอบเขตความต้องการ (requirements definition documents) ข้อกำหนดในการออกแบบ (design specifications) โปรแกรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้น (developed program) แผนในการดำเนินการทดสอบ (test execution plans) และ รายงานการดำเนินการทดสอบ (test execution reports) ตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดการออกแบบสามารถนำไปใช้ในการเขียนแบบภายใต้การพัฒนาระบบ และสามารถนำไปอ้างอิงในการตรวจสอบความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบ นอกจากนี้ ในขั้นตอนการดำเนินงาน หรือการบำรุงรักษา หากจำเป็นต้องทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโปรแกรม รายงานการดำเนินการทดสอบก็จะเป็นเอกสารเพียงชิ้นเดียวที่สามารถใช้ทำความเข้าใจการทำงานของระบบที่มีอยู่ได้

(2) การบำรุงรักษาระบบ (System maintenance) งานการบำรุงรักษาระบบที่สำคัญเพื่อป้องกันระบบล้มเหลวมีดังต่อไปนี้
ประเภทของการบำรุงรักษา (Type of maintenance)
- การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventative maintenance) เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการแก้ไขเหตุของปัญหา ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น
- การบำรุงรักษาตามเวลาที่กำหนด (Scheduled maintenance) การตรวจสอบประจำวัน หรือตามเวลาที่กำหนด ตัวอย่างเช่นการตรวจสอบระบบโดยผู้เชี่ยวชาญ และการตรวจสอบฮาร์ดแวร์ประจำเดือน ซึ่งมีการระบุไว้ในข้อตกลงการบำรุงรักษาระบบ
- การบำรุงรักษาจากระยะไกล (Remote maintenance) การบำรุงรักษาระบบโดยผู้เชี่ยวชาญ และการแก้ไขสาเหตุของความผิดพลาดจากระยะไกล (การดำเนินการบำรุงรักษาจากระยะไกล) โดยการเชื่อมต่อระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้ใช้เข้าด้วยกันโดยสายสื่อสาร อาจทำการระบุไว้ในข้อตกลง

(3) ความล้มเหลวของระบบ (System failure) ในแง่ของการดำเนินการการบำรุงรักษาระบบ การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันความผิดพลาดหรือป้องกันระบบล้มเหลวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงระบบอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี การเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงาน หรือการยืดอายุเวลาการใช้งานฮาร์ดแวร์ อาจเกิดความล้มเหลวหรือผิดพลาดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนระบบเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ ในระหว่างการพัฒนาระบบ จำเป็นต้องคำนึงถึงความล้มเหลวผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นและควรพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวของระบบหรือปัญหาที่ทำให้ระบบต้องหยุดทำงาน

No comments: