Monday, June 27, 2016

บทบาท อาจารย์ นักศึกษา กับประชาธิปไตยในชั้นเรียน

บทบาท อาจารย์ นักศึกษา กับประชาธิปไตยในชั้นเรียน
ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้มนุษย์ยุค 2016 มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย มากขึ้น เรียกร้องกันมากขึ้น ทั้งในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่ ลูก และญาติพี่น้อง ในชั้นเรียน ระหว่างเพื่อนร่วมชั้นเรียน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ครูอาจารย์กับลูกศิษย์ ในที่ทำงานระหว่างหัวหน้างาน กับลูกน้อง ไปจนถึงระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ
ด้วยพื้นฐานของสังคม เริ่มต้น จากครอบครัว ความรัก ความใกล้ชิด ของคนในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ประชาธิปไตยในครอบครัว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข มีความรัก ความเข้าใจกัน ทั้งนี้ในเชิงลึก ก็ยังคงต้องมีเผด็จการอยู่บ้าง ผู้ปกครองมีหน้าที่สั่งสอนกุลบุตร กุลธิดา ให้สามารถไปอยู่ร่วมกับสังคมได้ในอนาคต จึงคงให้ประชาธิปไตยทุกเรื่องไม่ได้ เนื่องจากผู้เยาว์ ยังมีประสบการณ์น้อย การดำเนินชีวิตในหลายเรื่องหากปล่อยให้ดำเนินการไปโดยไม่มีการทักท้วง ให้คำแนะนำ จนถึงปล่อยให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เยาว์แล้ว ก็อาจเกิดผลเสียหาย ทั้งต่อตัวผู้เยาว์เอง ผู้ปกครอง รวมทั้งสังคม ประเทศชาติได้ กฎหมายจึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ผู้ให้การอบรมสั่งสอน ทั้งหลาย มีหน้าที่ กำกับดูแล ให้คำปรึกษา เพื่อไม่ให้ผู้เยาว์ พลาดพลั้ง จนนำไปสู่ความเสียหายทั้งต่อผู้อื่น และตัวผู้เยาว์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น อันเป็นการละเมิด ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้ การที่บิดา มารดา ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ต้องคอยสั่งสอน ตักเตือน ผู้เยาว์ จึงถือเป็นหน้าที่พึงกระทำ ตามหลักประชาธิปไตย เพื่อให้ผู้เยาว์เข้าใจหลักประชาธิปไตย ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และสังคมโดยรวม
การเรียนในชั้นเรียน เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ ผู้เรียนในชั้นเรียน นอกจากจะต้องให้เกียรติผู้อื่น ให้เกียรติผู้บรรยาย อันเป็นมารยาทของอารยชน แสดงถึงความเป็นผู้มีอารยธรรมแล้ว ยังต้องระมัดระวังในการละเมิดสิทธิของผู้อื่นตามหลักประชาธิปไตย
อาทิ การคุยกันเสียงดัง โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นการรบกวนเพื่อนร่วมชั้นเรียน โดยอ้างสิทธิว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะพูดคุยได้ตามหลักประชาธิปไตย แต่เรามักจะลืมไปว่า พฤติกรรมเช่นนั้นเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน ในขณะที่ผู้อื่นให้เกียรติเราไม่เอะอะโวยวายว่าเรากำลังละเมิดสิทธิ ทำให้เรายิ่งเข้าใจผิดว่าการกระทำดังกล่าวนั้นถูกต้องแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเรากำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น ผิดหลักการประชาธิปไตยโดยชัดเจน ที่ไม่ให้บุคคลละเมิดสิทธิบุคคลอื่นและสังคม ดังนั้น บิดา มารดา ญาติ พี่ น้อง ครู อาจารย์ เพื่อน จึงมีบทบาท หน้าที่ อันปฎิเสธไม่ได้ที่จะต้องคอยว่ากล่าว ตักเตือน บุคคล รวมทั้งเด็ก และเยาวชน ในการดูแล ให้ประพฤติ ปฎิบัติ ตามหลักการประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม และประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

No comments: